วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

'บึงกาฬ' ถิ่นนี้มีตำนานเล่าขานถึง





ไม่น่าจะใช่ที่ใครจะมาชุบมือเปิบเอาว่า ฝ่ายการเมืองคือ ผู้เข้ามาปลุกปั้น แล้วก็ผลักดันให้อำเภอเล็ก ๆ อย่าง บึงกาฬ  ผงาดขึ้นเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่มันน่าจะเป็นเพราะดินแดนซึ่งอยู่เหนือริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงกันข้ามกับแดนดินถิ่นกุหลาบปากซัน แห่งเมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สปป.ลาว มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการที่จะยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดมากกว่าเหตุผลอื่น
     
กล่าวคือมี อาณาบริเวณกว้างไกลกว่า 4,305,746 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ ที่ต้องแยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย พร้อมกันกับอำเภอบึงกาฬ กับจำนวนประชากรอีกประมาณ 4 แสนคน 
     
ประเด็นสำคัญที่สร้างความพึงพอใจให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวบึงกาฬ และกลุ่มอำเภอใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ก็ตรงที่ไม่ต้องลำบากลำบนดิ้นรนไปทำธุรกรรมใด ๆ ถึงจังหวัดหนองคาย ซึ่งเคยเป็นจังหวัดแม่ และอยู่ห่างออกไปประมาณ 136 กิโลเมตร หรือจะเป็นตัวจังหวัดนครพนมที่อยู่ห่างบึงกาฬประมาณ 170 กิโลเมตร กันอีกต่อไป
     
ถึงกระนั้น...บึงกาฬก็ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งตำนานสถานที่หนึ่ง ที่ถูกบันทึกเรื่องราวไว้อย่างน่าสนใจในหลาย ๆ ตำนาน อย่างเช่น สถานะเดิมที่ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นเพียงตำบลเล็ก ๆ ในเขตปกครองของอำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ต่อมาได้เกิดมีการย้ายทำเลที่ตั้งของตัวอำเภอชัยบุรี ไปตั้งอยู่ริมฝั่งหนองน้ำแห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “บึงกาญจน์” ตรงกันข้ามกับเมืองปากซัน สปป.ลาว และให้ไปขึ้นตรงกับจังหวัดหนองคาย
     
โดยชื่อบึงกาญจน์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการที่ข้าราชการฝ่ายปกครองท่านหนึ่ง ได้เดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอชัยบุรี และพบว่ามีหนองน้ำแห่งหนึ่งยาวประมาณ 300 เมตร กว้าง 160 เมตร และชาวบ้านต่างเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า “บึงกาญจน์” เพื่อไม่ให้เป็นการซับซ้อนหลังการย้ายอำเภอชัยบุรี ไปขึ้นกับจังหวัดหนองคายแล้ว ก็เปลี่ยนชื่ออำเภอเสียใหม่จากชัยบุรี ให้กลายมาเป็นบึงกาญจน์ ตามชื่อของหนองน้ำที่ตั้งอยู่
     
และต่อมาคือในปี พ.ศ. 2477 ทางฝ่ายปกครองกลับเห็นว่า การเขียนชื่ออำเภอว่าบึงกาญจน์นั้นดูจะยากลำบาก จึงได้ลงทุนเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “บึงกาฬ” เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย ทั้ง ๆ ที่ชื่อและความหมายดูจะโหดกว่าชื่อเดิมซึ่งดูสละสลวยกว่าอยู่แล้ว?
     
ตำนานอีกด้านหนึ่งที่เล่ากันมานานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2137 ได้เกิดศึกชาวฮ่อเข้าไปขับไล่กลุ่มคนไทยออกจากลุ่มน้ำโขง ให้อพยพลงสู่ใต้ จนกระจัดกระจายกันออกไปตามแนวขนานของลุ่มน้ำ ระหว่างที่พากันอพยพลงไปนั้น พ่อตู้พรมซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยที่ต้องชะตากรรมในครั้งนั้น เกิดต้องมาสูญเสียเมียรักด้วยเชื้ออหิวาตกโรคในระหว่างการเดินทาง คงเหลือแต่ลูกสาวสองคน คือ “สมสี” กับ “บัวลี” ที่อพยพถอยร่นลงมาด้วยกัน จนถึงริมฝั่งโขงด้านตรงข้ามกับเมืองปากซัน

พ่อตู้พรมซึ่งเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้า ปล่อยลูกสาวทั้งสองให้พำนักกันอยู่ตรงนั้น ส่วนตัวเองกลับมุ่งหน้าไปอาศัยอยู่ทางดอนหอทุ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไป แล้วก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา สมสีกับบัวลีจึงฝังศพพ่อตู้พรมไว้ที่ดอนหอทุ่ง ซึ่งต่อมาก็คือ “หนองกุดทิง” ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งสมสีและบัวลีที่ยึดมั่นการครองตัวเป็นโสด เมื่อต้องสูญเสียบุพการีคือแม่และพ่อ ก็ให้รู้สึกโศกเศร้าเสียใจ ถึงขั้นล้มป่วยและตายไปในที่สุด หลังจากนั้นได้มีผู้สร้างสุสานให้แก่นางทั้งสองขึ้นที่บ้านของตู้จารย์มา ต้นหาบึ้ง ครั้นพอปี พ.ศ. 2498 ก็ได้มีการย้ายสุสานของนางทั้งสองไปเก็บไว้ตรงกลางใจเมืองบึงกาฬ และสร้างขึ้นเป็นศาลหันหน้าออกไปยังริมฝั่งแม่น้ำโขง
     
เรียกขานศาลแห่งนี้กันว่า “เจ้าแม่สองนาง” โดยถือเป็นศาลคู่บ้านคู่เมืองที่เชื่อกันว่า มักมีปาฏิหาริย์ให้ปรากฏอยู่เป็นประจำ และผู้คนที่ผ่านไปมาก็นิยมยกย่องพร้อมบูชา เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
     
ในด้านศาสนา บึงกาฬมี วัดโพธาราม ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่มานาน ภายในพระอุโบสถ ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะงดงาม โบกฉาบด้วยปูน
     
ถัดมาก็คือ วัดอาฮง ตั้งอยู่ในเขตบ้านอาฮง ประชิดติดแม่น้ำโขง โดยพื้นที่ภายในวัดรายล้อมด้วยธรรมชาติที่เป็นโกรกหินเรียงรายรอบศาสนสถาน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนบริเวณด้านหน้าที่เป็นลำน้ำโขงซึ่งมีความลึกที่สุดนั้น กลายเป็นแหล่งน้ำวนทำให้ผู้คนในท้องถิ่นเชื่อกันว่า ณ ที่แห่งนั้นคือ “สะดือแม่น้ำโขง” และสามารถมองเห็นปาฏิหาริย์บั้งไฟพญานาคได้ในช่วงวันออกพรรษา
     
ศาสนสถานที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับแนวหน้าควบคู่อีสานมานาน ได้แก่ วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือ “วัดภูทอก” ที่หมายถึงภูเขาซึ่งตั้งอยู่บนที่โดดเดี่ยว ในเขตบ้านคำแคน ต.นาแสง อ.ศรีวิไล ที่นี่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธรักษ์ เพื่อการแสวงบุญหรือธรรมจาริก ด้วยมีการจัดสร้างสะพานเรือนไม้ ให้สามารถก้าวเดินขึ้นไปชมธรรมชาติของภูหินที่วางทอดกันเป็นขั้น ๆ ถึง 7 ชั้นได้แต่ละชั้นนอกจากจะมีความเงียบสงบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมในเชิงวิเวกแล้ว ยังสามารถมองเห็นภูมิทัศน์รอบด้าน ที่ไม่ต่างจากภาพเขียนถึงความงามของธรรมชาติที่เป็นจริง

ในแง่ของมรดกทางธรรมชาติที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีนั้น บึงกาฬมี “หนองกุดทิง” หรือดอนหอทุ่ง ที่พ่อตู้พรมได้ไปสละร่างทิ้งไว้ที่นั่น เป็นความงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนน้ำซึ่งกว้างใหญ่ถึง 22,000 ไร่ กับความลึกที่ 5-10 เมตร ซึ่งได้รับการคุ้มครองด้วยการจดทะเบียนขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งที่ 2 ของจังหวัดหนองคายมาก่อน
     
สถานที่แห่งนี้อยู่ห่างตัวเมืองบึงกาฬออกไปเพียง 1 กิโลเมตร และเป็นแหล่งที่หลากหลายทาง ชีวภาพ โดยมีสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์รวมตัวกันอยู่ในนั้น มีพันธุ์ปลาที่ผืนน้ำแห่งอื่น ๆ ไม่มีอยู่ 20 สายพันธุ์ พืชน้ำอีกกว่า 200 ชนิด แล้วก็ยังเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำมากถึง 40 ชนิด โดยเฉพาะกลุ่มนกเป็ดน้ำประเภท เป็ดหัวดำ เป็ดคับแค เป็ดแดง เป็ดผีเล็ก และนอกจากนี้ยังมีนกประจำถิ่นอยู่เคียงท้องน้ำอีก เช่น นกอีล้ำ นกพริก นกยางไฟ นกกวัก นกกระเต็นอกขาว พวกนี้อยู่กันได้โดยไม่หนีหายไปไหน เพราะไม่มีใครไปเข่นฆ่าหรือทำร้ายมัน!
     
ทรัพยากรอันล้ำค่า หรือผืนป่าที่มีอิทธิพลต่อท้องถิ่นมหาศาลของบึงกาฬ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว” ที่มีราวป่ารายล้อมอยู่บนพื้นที่ 186 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ กับมีการผนวกขึ้นในภายหลังอีก 8,100 ไร่ รวมเป็นแปลงป่าผืนใหญ่ถึง 124,662 ไร่ กว้างใหญ่พอที่สัตว์ป่าหลากชนิดจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมากมีด้วยพันธุ์ไม้ที่เริ่มหายากแล้วในป่าเมืองไทย
     
แต่ในแง่ของการท่องเที่ยว เมื่อแปลงป่าภูวัวคือแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย ที่นี่จึงเป็น เส้นทางของสายน้ำที่ไหลผ่านภูผาหินลงมาเป็นน้ำตกซุกตัวอยู่ในป่าหลายแห่ง ทั้งแบบไหลเป็นแนวดิ่งจากผาสูงสู่ธารน้ำ และไหลเป็นทางกว้างให้ดูอัศจรรย์ จำนวนนั้น ได้แก่ น้ำตกเจ็ดสี ที่เกิดจากแรงกระเซ็นของละอองน้ำ ยามต้องแสงตะวันให้กลายเป็นสีรุ้งพุ่งขึ้นเป็น 7 สี
     
น้ำตกชะแนน ที่แผลงมาจากคำว่า “ตาดสะแนน” ในภาษาถิ่นอีสาน ที่หมายถึง น้ำตกซึ่งมีความงามที่สุด น้ำตกตาดนกเขียน น้ำตกถ้ำฝุ่น น้ำตกถ้ำพระ ซึ่งแต่ละแห่งยังคงแฝงเร้นอยู่ในแนวป่า ที่ถ้าไม่ใช่นักนิยมไพรตัวจริง ก็ยังมิอาจเดินทางไปถึงน้ำตกเหล่านี้ได้
     
นี่คือความเป็นตัวตนที่แท้จริงของท้องถิ่นบึงกาฬ ที่สมควรยกระดับการปกครองขึ้นเป็นจังหวัดเม็ดงาม เคียงข้างแดนดินถิ่นกุหลาบปากซัน โดยไม่จำเป็นต้องให้นักการเมืองเข้าไปสวมรอย แล้วสอยเอาทางบุญเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จแทนคุณจากประชาชน!.

“ในแง่ของมรดกทางธรรมชาติที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีนั้น บึงกาฬมี “หนองกุดทิง” หรือดอนหอทุ่ง ที่พ่อตู้พรมได้ไปสละร่างทิ้งไว้ที่นั่น เป็นความงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนน้ำซึ่งกว้างใหญ่ถึง 22,000 ไร่ กับความลึกที่ 5-10 เมตร ซึ่งได้รับการคุ้มครองด้วยการจดทะเบียนขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งที่ 2 ของจังหวัดหนองคาย”

รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว

จังหวัดบึงกาฬ ได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดที่ 77 โดยแยกออกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ประกอบด้วยอำเภอต่าง ๆ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ เซกา โซ่พิสัย บุ่งคล้า บึงโขงหลง ปากคาด พรเจริญ และศรีวิไล อยู่ห่างกรุงเทพฯ ประมาณ 750 กิโลเมตร
     
การเดินทาง สามารถเดินทาง จากจังหวัดหนองคาย ด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ประมาณ 136 กิโลเมตร จากจังหวัดนครพนม ด้วยทางหลวงหมายเลข 212 ประมาณ 170 กิโลเมตร จาก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ด้วยทางหลวงหมายเลข 222 และ 2280 ประมาณ 132 กิโลเมตร สามารถเดินทางข้ามลำน้ำโขงโดยเรือโดยสารได้ ระหว่าง อ.เมืองบึงกาฬ-เมืองปากซัน แขวงบลิคำไซ สปป.ลาว 
     
ที่พัก มีโรงแรมและรีสอร์ท ราคาประมาณ 300–800 บาท ประมาณ 70 แห่ง และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้
     
คำขวัญประจำจังหวัดบึงกาฬ-สองนางศาลศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่ แหล่งน้ำใสหนองกุดทิง สุดใหญ่ยิ่งแข่งเรือยาว หาดทรายขาวเป็นสง่า (หาดบริเวณแม่น้ำโขง) น่าทัศนาแก่งอาฮง งามน้ำโขงหน้าบึงกาฬ สุขสำราญที่ได้ยล
     
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5407–8

ทีมวาไรตี้









ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น